ลอตเตอรี่ โอกาสหรืออุปสรรค

ผู้มีรายได้น้อยชอบเล่นลอตเตอรี่นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ในหลาย ๆ ประเทศพบได้เช่นเดียวกันว่า ผู้มีรายได้น้อยมักจะชอบเล่นลอตเตอรี่มากกว่าผู้มีฐานะดี มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าลอตเตอรี่รัฐบาลนั้นมีลักษณะเป็นภาษีอัตราถดถอย หมายความว่าผู้มีรายได้น้อยจ่ายเงินให้กับรัฐบาลในสัดส่วนต่อรายได้ที่สูงกว่าผู้มีฐานะดีกว่า นักเศรษฐศาสตร์และนักจิตวิทยาจึงได้พยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อจะนำไปสู่นโยบายที่สามารถลดการซื้อลอตเตอรี่ของคนจนได้

อย่างไรก็ตามการซื้อลอตเตอรี่ไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล หรือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเสมอไป เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการซื้อลอตเตอรี่นั้นไม่ได้มีเพียงเงินรางวัลอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความสนุกตื่นเต้นจากการได้ลุ้นว่าตนเองจะถูกรางวัลหรือไม่ และความสุขจากการได้รู้สึกว่าตนเองมีความหวังที่จะหลุดพ้นจากความยากจน หมายความว่าถึงแม้โอกาสหลุดพ้นความยากจนจะไม่มากในความเป็นจริง แต่ความสุขและความสนุกที่ได้ถือว่าเป็นสิ่งตอบแทนจากการจ่ายเงินซื้อลอตเตอรี่ คล้ายกับการที่คนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อความบันเทิงรูปแบบอื่น ดังนั้นหากผู้บริโภคซื้อลอตเตอรี่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป ก็อาจทำให้ผู้บริโภคอยู่ในจุดที่ได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดได้ แต่พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงนั้นคือการเล่นลอตเตอรี่ในปริมาณและมูลค่ามากเกินไปจนส่งผลเสียร้ายแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่

เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคซื้อลอตเตอรี่มากเกินไปจนกระทบชีวิตความเป็นอยู่ ต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 2 เรื่อง

1.มีข้อมูลหรือความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคมีการประเมินโอกาสที่จะถูกลอตเตอรี่มากเกินไปจากความจริง (overestimate) นำไปสู่พฤติกรรมซื้อมากเกินไป ข้อมูลความรู้ที่ควรมี เช่น หลักความน่าจะเป็น พร้อมความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการซื้อเลขเดิมซ้ำๆ กันในทุกงวดไม่ได้ทำให้โอกาสถูกรางวัลมีมากขึ้น เป็นต้น

2.มีทักษะในการควบคุมตนเอง หากผู้บริโภคขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง เมื่อถูกล่อด้วยสิ่งเร้าเช่นลอตเตอรี่ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่คิดไตร่ตรองให้ดี ไม่ได้ นำความรู้ของตนมาใช้ในการตัดสินใจ และ ไม่ได้คำนึงทางเลือกอื่นอย่างครบถ้วน จึงพ่ายแพ้ต่อสิ่งล่อใจนั้นในที่สุด เกิดเป็นพฤติกรรมซื้อของโดยฉับพลัน (impulse buying)